เซนคือวิธีแห่งการรู้แจ้งอันสมบูรณ์
ใครก็ตามที่ได้ปฏิบัติเซน ย่อมสามารถเข้าถึง การรู้อย่างฉับพลัน และใช้ชีวิตใหม่ในสถานะแห่งพุทธะ
เซนอยู่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง เป็นชีวิตตามธรรมดาๆ แต่ก็ไม่ใช่ธรรมดาตามธรรมดาที่เราเข้าใจกันอยู่โดยปกติทั่วไป
ที่จริงเซนนั้นก็เหมือนกับการตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน กินอาหาร อาบน้ำ ล้างถ้วย ล้างชาม อันเป็นกิจวัตรสามัญประจำวันของคนเรา ดำเนินไปตามครรลองที่มันควรจะเป็นเท่านั้นเอง
วิธีการปลุกเร้ากายใจให้สดชื่นนั้น คือ ถึงเวลาหิวก็กินข้าว ถึงเวลาอ่อนเพลียก็นอน ซึ่งเป็นท่วงทำนองของธรรมชาติ ที่ตัวตนจะดำรงอยู่ ณ ที่นี้อย่างแท้จริงอยู่เสมอ
จงใช้ชีวิตอยู่กับเหตุ ทิ้งผลไว้ให้แก่กฎอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล
จุดมุ่งหมายของเซน คือการทำให้เราตระหนักว่าไม่มีตัวตน
ใช้ชีวิตอยู่ในโลก แต่อย่าให้ฝุ่นของโลกเกาะติดได้ เหมือนดอกบัวเกิดในโคลนตม แต่ไม่ติดโคลนตมฉันนั้น
ชีวิตนี้แสนสั้น เราย่อมไม่อาจที่จะใช้ชีวิตที่มีเวลาอยู่นี้ ไปในการขบคิดใคร่ครวญเรื่องทางอภิปรัชญา อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะอภิปรัชญาไม่อาจนำไปสู่สัจจะอันยิ่งใหญ่ได้เลย
ชีวิตของเราจะสูญเปล่าไป หากเราหลีกหนีการใช้ชีวิตตามความจริง เมื่อไปอยู่ในโลกแห่งความคิดอันล้ำลึกแล้ว เราก็จะเป็นเพียงวิญญาณพเนจร หากยังวุ่นวายอยู่ด้วยความคิดว่ามีหรือไม่มี ชีวิตก็จะสูญเปล่าไปเสีย
ให้ดูทุกข์ และความไม่มีทุกข์ ที่มีอยู่ในใจ จึงจะเข้าถึงธรรมที่ปราศจากทุกข์ได้
ปาฏิหาริย์ที่แท้ อยู่ในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ นี่เอง ให้กิจวัตรประจำวันดำเนินไปตามครรลองของมันอย่างเป็นธรรมชาติ ชีวิตคุณมีอยู่เพียงขณะเดียว อดีตก็ละไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด คนเราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ก็แต่ในขณะปัจจุบันเท่านั้น
เดี๋ยวนี้ คือสิ่งที่เรา เป็น มันไม่สามารถจะเป็น เป้าหมาย หรือ ภาวะ ที่เราจะต้อง มุ่ง ไปให้ถึง เดี๋ยวนี้ คือการกระทำ หรือ ความเคลื่อนไหว ซึ่งปรากฏอยู่ในขณะนี้ ก่อนที่ ความคิด จะปิดบังมันไว้เสีย
ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่น เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกัน เมื่อผู้อื่นทำผิด เราไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง ในการที่จะไปรื้อหาความผิด
ทุกๆ ครั้งที่มีการเตือนตนเองให้ถ่อมตน อัตตาของตนก็จะขยายทั้งแง่ขอบเขตและกำลัง ความถ่อมตนที่แท้จะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้นึกถึงความถ่อมตน วิปัสสนานั้นไม่ใช่การให้ความสำคัญแก่ตนเอง หรือการปฏิเสธละทิ้งตนเอง
มันจะมีประโยชน์อะไร ที่จะมานั่งอภิปรายกันว่า ต้นหญ้าและต้นไม้ตรัสรู้ได้อย่างไร ปัญหามันอยู่ที่ว่า ตัวท่านเองนั่นแหละ จะสามารถบรรลุถึงการตรัสรู้ได้อย่างไร
ยึดมั่นคราใดเป็นทุกข์ครานั้น การปฏิบัติทุกอย่างต้องมาลงที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดหรือเรื่องใดที่ปฏิบัติแล้ว ยิ่งทำให้เกิดยึดมั่นถือมั่นมากยิ่งขึ้น ถือว่าผิดแล้ว
การตรัสรู้ธรรมหรือไม่ หาได้อยู่ที่การปฏิบัติเข้มงวด หรือเคร่งครัดเป็นเวลานานไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติถูกต้องหรือไม่ต่างหาก
ระหว่าง รู้ กับ ทำ นั้นช่างห่างไกลกันเสียเหลือเกิน
คำของปรมาจารย์รุ่นแรกสุดของเซ็น มีอยู่ 4 ประโยค
1. พ้นจากการบัญญัติ
2. เข้าถึงไม่ได้ด้วยการเรียนตามตำรา
3. ลัดตรงเข้าสู่ใจ
4. มองดู (รู้) พุทธะก็เกิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น