กินแบบหยินหยาง


อยากมีสุขภาพแข็งแรง ใช่ว่าจะกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่เท่านั้น แต่ต้องรู้จักกินอย่างสมดุลด้วยค่ะ

ฉะนั้นเรามาสร้างสมดุลให้ร่างกายด้วยการกินอย่างสมดุล ตามแนวคิดของหยิน หยางกันค่ะ

ถ้าคุณมีอาการร้อนในแล้วพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการร้อนในยิ่งขึ้น อย่างลำไย ทุเรียน หรือถ้าคุณมีอาการเป็นหวัดคัดจมูก น้ำมูกไหล แล้วพยายามกินพืชผักผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ววิธีคิดและวิธีกินแบบนี้นี่แหละ ที่เข้าข่ายกินตามแบบหยินหยางที่เรากำลังจะพูดกัน

ตามหลักคิดแบบหยินหยางนั้น ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้จะประกอบไปด้วยสองด้าน ซึ่งด้านทั้งสองจะอยู่ตรงข้ามและขัดแย้งกัน แต่ต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ภาวะตรงข้ามอย่างนี้เรียกว่า ภาวะหยิน (ลักษณะหดตัวไหลลงสู่เบื้องล่าง) และ หยาง (ลักษณะแผ่ออกไหลขึ้นสู่เบื้องบน) ค่ะ

เมื่อนำหลักคิดแบบหยินหยางมาใช้กับเรื่องการกิน เราก็จะพิจารณาได้จากการที่อาหารทุกประเภท

ล้วนมีภาวะหยินและหยางอยู่ด้วยกันทั้งหมด แล้วแยกแยะว่าอาหารชนิดนั้นๆ มีความเป็นหยินหรือหยางมากกว่ากัน

โดยดูที่คุณสมบัติหลักของอาหารชนิดนั้นเป็นเกณฑ์ตัดสิน อย่างพริกไทยมีรสชาติเผ็ดร้อน ก็ถือเป็นอาหารแบบหยาง หรือมะระมีรสชาติขม ถือเป็นอาหารแบบหยินค่ะ

ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างอาหารกันค่ะว่า อาหารแบบไหนที่มีภาวะหยินและอาหารแบบไหนที่มีภาวะหยางมากกว่า

อาหารหยิน : อาหารที่ให้ความเย็น มีรสชาติเค็ม ขม เปรี้ยว เช่น กล้วย ส้ม สาลี่ อ้อย แตงโม สับปะรด องุ่น มะพร้าว มะละกอ ถั่วเขียว ถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง เต้าหู้ ชา แตงกวา มะเขือเทศ บวบ ขึ้นฉ่าย ข้าวโพด ปู เป็ด ห่าน หอยนางรม รวมทั้งอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยกรรมวิธีต้ม นึ่ง ตุ๋น

อาหารหยาง : อาหารที่ให้ความร้อน มีรสชาติเผ็ด หวาน เช่น ขิง กระเทียม พริก ผักชี มะเขือยาว พริกไทย หอม เนื้อวัว ไก่ มะกอก งาดำ หัวหอม รวมทั้งอาหารที่ผ่านการปรุงด้วยกรรมวิธีทอด ย่าง รมควัน

ความต่างระหว่างหยิน หยาง

หยิน

หยาง

ความมืด
ผู้หญิง
กลางคืน
ดิน
น้ำ
ความเย็น
ความชื้น
ลบ

ความสว่าง
ผู้ชาย
กลางวัน
ฟ้า
ไฟ
ความร้อน
ความแห้ง
บวก

คุณเป็นโรคหยินหรือหยางกันแน่ ?

ตามความเชื่อแบบหมอจีนโบราณ โรคแบบหยินและหยางจะแตกต่างกัน โดยสังเกตได้จาก

โรคหยิน

โรคหยาง

เราจะมีอาการไม่สดใส หน้าซีด ไม่มีแรง ไม่กระหายน้ำ แขน ขาเย็น ขี้หนาว เสียงเบาค่อย หายใจเบาชีพจรเต้นช้า ปัสสาวะมากและใส อุจจาระน้อยและค่อนข้างเหลว ท้องอืด ลิ้นบวมโต แถมมีสีซีด และมีชั้นฝ้าขาวลื่น

เราจะมีอาการหน้าแดง ตาแดง หายใจแรง เสียงดังใหญ่ ตัวร้อน หงุดหงิด กระวนกระวาย เจ็บคอ คอแห้ง ท้องผูก ชีพจรเต้นเร็ว ลิ้นแห้งแต่มีสีแดงเข้ม มีชั้นฝ้าเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม

แล้วร่างกายเราอยู่ในภาวะ หยินหรือหยาง ?

นอกจากจะดูที่คุณสมบัติของอาหารเป็นหลักแล้ว

เราควรดูคุณสมบัติในตัวของเราด้วยว่า

ภาวะร่างกายของเราเป็นหยินหรือหยางมากกว่ากัน เช่น ถ้าเรากินอาหารพวกหยาง

ในปริมาณไม่มากเกินไปแล้วเกิดมีอาการเจ็บคอหรือคอแห้ง อย่างนี้แสดงว่าร่างกายเราอยู่ในข่ายพวกหยางค่ะ

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพยายามหาอาหารพวกหยินมากิน เพื่อให้เกิดความสมดุลขึ้น

เพื่อความเข้าใจ ลองคิดตามตัวอย่างที่ยกมานี้ดูนะคะ สมมติว่าเรากำลังกินแกงเลียงที่มีภาวะหยางมากกว่าหยิน เพราะใส่พริกไทย หัวหอม และเครื่องเทศต่างๆ ถ้าเรารู้สึกว่าทุกครั้งที่เรากินแกงเลียงจะเกิดอาการร้อนใน

เราอาจตั้งข้อสงสัยได้ว่าร่างกายเรามีภาวะหยางมากกว่าภาวะหยิน ทีนี้เมื่อคิดตามแบบหยินหยางแล้วก็ลองเติมบวบ ใบตำลึง และข้าวโพด (หยิน) เข้าไปมากๆ ในแกงเลียง ก็จะช่วยให้อาหารมื้อนี้เกิดความสมดุลต่อร่างกายเรามากขึ้น

อาการร้อนในก็จะลดลงหรือไม่เกิดขึ้น

ในทางกลับกัน ถ้าเรากินอาหารพวกหยินปริมาณไม่มากนัก แต่เกิดอาการท้องอืด มึนหัว นั่นแสดงว่าร่างกายเราอยู่ในภาวะของหยินมากกว่าหยาง ดังนั้น การกินอาหารหยินที่เย็นมากๆ เช่น บวบ ผักกาดขาว ในช่วงที่ร่างกายเราไม่ค่อยแข็งแรง จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้า

จากหลักการกินข้างต้น จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รู้ได้ค่ะว่า นอกจากจะต้องเลือกอาหารที่ทำให้ภาวะร่างกายเราสมดุลแล้ว

เราควรดูด้วยว่าตัวของเรานั้นอยู่ในภาวะหยินหรือหยางด้วย เพื่อช่วยให้การกินอาหารนั้นๆ ได้ประโยชน์สูงสุดและช่วยให้ภาวะในร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอค่ะ

เรียบเรียงจากบทความพิเศษโดย คุณวิกิต วัฒนาวิบูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น