เต่าในลำธาร

จักรพรรดิองค์หนึ่งได้ข่าวว่าเล่าจื๊อเป็นนักปราชญ์ที่ปราดเปรื่องมาก ส่งคนไปนิมนต์มาเป็นมหาอำมาตย์ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน


เมื่อมหาอำมาตย์ไปแจ้งพระราชประสงค์ให้ทราบ


เล่าจื๊อ มหาปราชญ์ผู้สถาปนาปรัชญาเต๋า

ชี้ให้ท่านราชทูตดูเต่า (ตายแล้ว) ตัวหนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่บนศาลเจ้า มีกลิ่นธูปควันเทียนลอยคลุ้ง แล้วถามราชทูตว่า

การเป็นเต่าอยู่ในน้ำ ใช้ชีวิตอย่างเสรี ท่องไปได้ตลอดทิศทั้งสี่ กับการเป็นเต่าที่ได้รับการเทิดทูน แต่ตายแล้ว

และต้องนิ่งสนิทอยู่บนศาลเจ้าให้คนสักการะนั้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน

ราชทูตตอบว่า

เป็นเต่ามีชีวิตอย่างเสรีอยู่ในน้ำย่อมดีกว่าอย่างไม่มีทางเทียบกันได้

เล่าจื๊อจึงว่า

"ไปบอกจักรพรรดิของท่านเถิด เราขอเป็นเต่าอยู่ในลำธารเล็กๆ ก็พอแล้ว"


ผลของการเป็นเต่าอยู่ในลำธารเล็กๆ ก็คือ

แม้กาลเวลาจะล่วงไปกว่าสามพันปีแล้ว

ภูมิปัญญาของเล่าจื๊อก็ยังคงทอแสง เจิดจรัสอยู่จนทุกวันนี้

ส่วนพระจักรพรรดิและมหาอำมาตย์ผู้สูงด้วยอิสริยยศของพระองค์นับไม่ถ้วน คนนั้น

มาบัดนี้ ชาวโลกแทบไม่รู้จักชื่อเอาเลยว่า ได้ทำประโยชน์อะไรไว้ให้แก่โลกบ้าง ?



บทความจาก ว.วชิรเมธี จากคอลัมน์ อินธรรม อินเทรนด์
นสพ. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3894

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น